เสียงจากซูเปอร์บอร์ด (19) – ดร.วิรไท สันติประภพ – เขตเศรษฐกิจพิเศษ ยกกำลังสอง Qianhai

เมื่อครั้งที่ทีมนโยบายหรือคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์นำโดยคุณกรณ์ จาติกวณิช ประธานคณะกรรมการฯนำทีมไปดูงานด้านนโยบายที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เรามีโอกาสเดินทางไปดูงานเกี่ยวกับการจัดสร้าง“เขตเศรษฐกิจพิเศษ”แบบพิเศษสุดๆ อย่างเมือง Qianhai ที่พิเศษในหลายๆ ด้านด้วยกัน

วันนี้คิดว่าเป็นโอกาสดีจะได้ตีแผ่เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ จึงขออนุญาตดร.วิรไท สันติประภพ หนึ่งในคณะกรรมการซูเปอร์บอร์ดและว่าที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ของเราไว้ ณ ที่นี้ เพื่อนำบทความเกี่ยวกับ เขตเศรษฐกิจพิเศษสุดๆ อย่าง Qianhai มาให้คนไทยได้รู้จักกันครับ

————————————

ดร.วิรไท เริ่มต้นบทความว่า ท่านได้มีโอกาสเดินทางไปเมือง Qianhai ร่วมงาน Qianhai Conference เมื่อช่วงปีก่อน

หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ประกาศสนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ Qianhai อย่างเป็นทางการครบรอบสองปีพอดี

คนส่วนใหญ่ (รวมทั้งผมด้วย) คงไม่เคยได้ยินชื่อ Qianhai มาก่อน เมื่อผมได้รับเชิญให้ไปร่วมงานนี้ ต้องรีบปรึกษาอากู๋ Google ว่า เมืองนี้อยู่ตรงไหนในจีน มีที่มาที่ไปอย่างไร

และทำไมถึงคิดจะจัดการประชุมนานาชาติใหญ่โตเรื่องการเงินกับการพัฒนา เชิญคนใหญ่คนโตทั้งอดีตรัฐมนตรี ข้าราชการผู้ใหญ่ นักวิชาการ จากทั้งยุโรป เอเชีย และจีนเอง มาร่วมมากมาย เมื่อได้คำตอบจากอากู๋แล้ว ไม่รีรอที่จะตอบรับคำเชิญ

Qianhai จัดได้ว่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษยกกำลังสอง เพราะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ที่ตั้งอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ Shenzen ที่เรารู้จักกันดี ประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยว ผิง จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ Shenzen ในปี 1980

ธุรกิจบริการที่ Qianhai ให้ความสำคัญประกอบด้วยสี่ด้านหลัก คือ บริการการเงิน โลจิสติกส์สมัยใหม่ การบริหารจัดการข้อมูลและระบบสารสนเทศ และบริการที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ (professionals) โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนในช่วงหลังต่างไปจากสมัยที่รัฐบาลจีนตั้ง Shenzen เพราะตอนนี้เป็นแนวคิดจากล่างขึ้นบน

รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้ริเริ่มทำข้อเสนอให้รัฐบาลกลางพิจารณาสนับสนุนให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในเขตของตนเอง รวมทั้งขอให้รัฐบาลกลางให้สิทธิ์พิเศษต่างๆ ตามเป้าหมายของการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง ซึ่งอาจจะมีเป้าหมายที่ซ้อนทับกันบ้างระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ๆ

การจัดตั้งเมือง Qianhai ก็เป็นแนวคิดจากล่างขึ้นบน รัฐบาลท้องถิ่น Shenzen ต้องการทำเรื่องใหม่ๆ หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการพาณิชย์และอุตสาหกรรมแล้ว จึงเสนอให้รัฐบาลกลางพิจารณาสนับสนุนให้ Qianhai เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับบริการทันสมัย รัฐบาลท้องถิ่น Shenzen ต้องลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใน Qianhai เอง

ข้อดีของจีนคือว่าเมื่อรัฐบาลกลางตัดสินใจให้การสนับสนุนด้านนโยบายแล้ว จะกดปุ่มให้หน่วยงานระดับประเทศร่วมกันสนับสนุน Qianhai อย่างเต็มที่ แก้ไขกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ เพื่อให้ Qianhai สามารถทดลองทำธุรกรรมทันสมัยได้ โดยหวังว่าจะเป็นบทเรียนสำคัญก่อนที่จะขยายผลไปพื้นที่อื่นต่อไป

โจทย์สำคัญในวันนี้ของ Qianhai คือจะกำหนดกลยุทธ์ของตัวเองอย่างไรในฐานะน้องใหม่ที่เกิดขึ้นมาแทรกกลางระหว่าง Shenzen กับฮ่องกง ซึ่งก้าวหน้ากว่า Qianhai หลายช่วงตัว ในด้านหนึ่ง Qianhai จะต้องแข่งขันกับทั้ง Shenzen และฮ่องกง ในอีกด้านหนึ่ง Qianhai จะต้องร่วมมือกับท้ัง Shenzen และฮ่องกง โดยอาศัยความได้เปรียบที่รัฐบาลกลางมอบให้ โดยเฉพาะความได้เปรียบเรื่องกฎเกณฑ์ กติกา และความได้เปรียบจากการทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อบริการทันสมัยไปยังส่วนอื่นๆ ของประเทศจีน ความได้เปรียบเหล่านี้เป็นความได้เปรียบเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะรัฐบาลจีนกำลังดำเนินการเปิดเสรีในหลายๆด้าน เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลเปิดเสรีอย่างจริงจัง ธุรกิจจะตั้งอยู่ที่ไหนในประเทศจีนก็จะได้ประโยชน์เหมือนกัน

หัวใจของ Qianhai ดูจะเป็นบริการด้านการเงิน ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีบริษัทเข้าไปจดทะเบียนใน Qianhai รวมกันประมาณ 16,000 บริษัท และกว่าร้อยละ 60 เป็นธุรกิจการเงิน บริเวณถนนที่กำลังก่อร่างเป็นศูนย์กลางการเงินของ Qianhai เริ่มเห็นธนาคารชื่อดังๆ ของจีนเปิดสาขาแข่งกันให้บริการอยู่มากมาย บริการการเงินในเขต Qianhai ได้รับสิทธิ์พิเศษหลายอย่างเหนือกว่าที่ทำได้ในบริเวณอื่นของประเทศจีน

Qianhai เป็นเหมือนกับอีกหลายเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน ที่รัฐบาลต้องการใช้เป็นแล็บ ทดลองเรื่องใหม่ๆ ก่อนที่จะขยายผลเป็นนโยบายในระดับประเทศต่อไป

ในขณะที่ผู้บริหารระดับสูงจากหลายสถาบันการเงินหลายแห่งเล่าให้ฟังในที่ประชุมว่าธุรกรรมการเงินใน Qianhai กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว นักวิชาการหลายคนกังขาว่าเป็นธุรกรรมที่ถูกสั่งมาให้ลงบัญชีที่ Qianhai หรือเป็นธุรกรรมที่เกิดจากกลไกตลาดอย่างแท้จริง นอกจากนี้ หลายคนสงสัยว่าบทเรียนจากที่ Qianhai จะนำไปใช้ทั่วประเทศจีนได้มากน้อยเพียงใด เพราะ Qianhai เป็นเพียงเมืองทดลองขนาดเล็กๆ ที่สามารถควบคุมกำกับดูแลได้ใกล้ชิด จะแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับเมื่อนำนโยบายเหล่านี้ไปขยายผลทั่วประเทศจีน ที่สำคัญเมื่อรัฐบาลจีนตัดสินใจผ่อนคลาดกฎเกณฑ์การเคลื่อนย้ายทุนข้ามประเทศเป็นการทั่วไป และยอมให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลสากลมากขึ้นแล้ว Qianhai จะอยู่ได้จริงหรือ เพราะเป็นศูนย์การเงินที่ตั้งขึ้นใหม่ เทียบชั้นกับฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ไม่ได้

วันนี้ในเมืองจีนตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว เมืองไทยเรามีนโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษกันมาหลายรัฐบาล แต่ยังไม่เห็นเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม หลายเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยยังเป็นแนวคิดที่กำหนดจากบนลงล่าง (มากกว่าที่จะเป็นการผลักดันจากคนในท้องถิ่นแบบล่างขึ้นบน) การประสานงานกันของหน่วยงานราชการยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ไม่สามารถแก้ไขกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีเพื่อให้เขตเศรษฐกิจพิเศษจัดตั้งได้จริง และเดินหน้าได้ตามวัตถุประสงค์ เขตเศรษฐกิจต่างๆ ไม่มีพลวัตภายใน และไม่มีแรงจูงใจระดับท้องถิ่นที่จะเร่งกันทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษประสบความสำเร็จ และที่สำคัญการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยดูจะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (เช่น แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานด้วยการให้สิทธิพิเศษในการจ้างแรงงานต่างด้าว) มากกว่าที่จะปักธงทำเรื่องสมัยใหม่ที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

ขออนุญาตเสริมจากดร.วิรไทครับว่า เมืองนี้สุดยอดจริงๆ วางโครงสร้างกันตั้งแต่ใต้ดินขึ้นไปบนฟ้า นอกจากเรื่องที่น่าสนใจทางด้านเศรษฐกิจที่พิเศษสุดๆ และด้านการเงินแล้ว ด้านสภาพความเป็นอยู่คนในเขตนี้จะเรียกได้ว่าเป็นเมืองที่จะผลิตประชากรที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ในอนาคตก็เป็นได้ ระบบสาธารณูปโภค ทุกอย่างเพียบพร้อมมาก

เขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลนี้ได้กำหนดตั้งขึ้นมาแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะลองดูแนวทางในลักษณะนี้ครับ ที่สำคัญการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในลักษณะการกระจายอำนาจ ปกครองจากล่างขึ้นบนนี่คือหัวใจหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ไม่น้อยทีเดียว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top
x
No Deposit Bonus