หกกันยา วันนี้ ชี้ชะตา รัฐธรรมนูญที่ทำมา ผ่านไม่ผ่าน
จะถูกคว่ำ คาค้างกลางกระดาน หรือจะผ่านความเห็นชอบ สปช.
ถ้าไม่ผ่าน มีกรรมการยกร่างใหม่ คสช.จัดให้ เพื่อทำต่อ
ยี่สิบเอ็ดผู้เชี่ยวชาญ ไม่รีรอ จัดทำต่อเพียงหกเดือน ไม่เชือนแช
ถ้าผ่านไปทำประชามติต่อ จัดทำโดย กกต. ทำได้แน่
นี่คือ สองทางออกที่แน่แท้ ทางไหนแน่ วันนี้มีแน่นอน
ลงมติ มีผ่านและมีคว่ำ ต่างฝ่ายต่างชี้นำ เอาไว้ก่อน
ด้วยเหตุผลต่างกันไป ไม่อาวรณ์ ไม่แน่นอน เสียงส่วนใหญ่ฝ่ายไหนกัน
ฝ่ายหนึ่งมุ่งยึดหลักความมุ่งหมาย หวังจะใช้รัฐธรรมนูญ ที่ทำนั้น
เพื่อป้องปัดวิบัติการณ์สารพัน ทั้งป้องกันมิให้กลับมาซ้ำใหม่
เอาสถานการณ์เคยมี เป็นที่ตั้ง มุ่งยับยั้งป้องกัน เป็นหลักใหญ่
ใช้หลักคิดนอกกรอบ ไม่เป็นไร ประชาธิปไตยลดลงไป เป็นไรมี
คือที่มาประชาธิปไตยยุคเปลี่ยนผ่าน ที่วิจารณ์ วิพากษ์กันขณะนี้
ซึ่งหลายฝ่ายมองไป ว่าไม่ดี จะมากมีปัญหา สารพัน
ที่ป้องปัดจะอุบัติ ขึ้นมาใหม่ ความขัดแย้งกระจายไกล ในเขตขันธ์
เลือกตั้งมา ไม่เลือกตั้ง ขัดแย้งกัน ที่สำคัญไม่เลือกตั้ง อำนาจใหญ่
กรรมการยุทธศาสตร์ฯ อาจสั่งการ ดำเนินงานในทางใด ก็ย่อมได้
งบประมาณต้องจัดการ ให้หน่วยใด รัฐธรรมนูญกำหนดให้ อำนาจมี
อ้างเพื่อการปฏิรูปและปรองดอง แต่เมื่อมองลึกลงไป ก็ใช่ที่
เพราะคือการบริหาร ซึ่งงานนี้ เป็นหน้าที่รัฐบาลที่เลือกมา
แม้กำหนดว่ามิใช่บริหาร แต่เนื้อหาของงาน เป็นอย่างว่า
มีอำนาจซ้อนอำนาจ กันขึ้นมา วันข้างหน้าขัดแย้งกัน ทำฉันใด
นี่ว่ากันเรื่องอำนาจธรรมดา อำนาจห้าปี ยังไม่ว่า ไปกันใหญ่
ปฏิรูปปรองดองประเทศไทย ที่ยังไม่มีรูปแบบ ที่ชัดเจน
วันข้างหน้า ถ้าเห็น ไม่ตรงกัน ขัดแย้งพลันเพราะแตกต่าง ทางความเห็น
ใช้อำนาจเหนือกว่า มาเป็นเกณฑ์ หลายประเด็นความขัดแย้ง จะคืนมา
เนื้อหาโดยส่วนใหญ่ ไปได้ดี แต่เนื้อร้ายก็มากมี อย่างที่ว่า
สปช.ทั้งหลาย ควรได้มา พิจารณาทบทวน ให้ถ้วนถี่
ถ้าเห็นว่าหายห่วง ก็รับไป แต่ถ้าเห็นอันตราย เนื้อร้ายนี้
ก็ควรได้ลงมือคว่ำ เสียทันที ไม่ควรมีประชามติ กันต่อไป
อย่าโยนปัญหามาให้ประชาชน สังคมจะสับสน วุ่นวายใหญ่
ไว้ค่อยทำประชามติ ฉบับใหม่ ถึงอย่างไรคงดีกว่า ที่คว่ำลง