ต่อภัสสร์:ผมขอรายงานสรุปการเสวนาวิชาการ “ขยายวงแนวคิดใหม่ ป้องกันภัยคอร์รัปชัน”ของคณะอนุกรรมการต่อต้านทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต ในงานวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่จัดเป็นประจำทุกปีโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)ผู้เข้าร่วมเฉพาะในห้องเสวนานี้มากถึง 107 คน ซึ่งเกินทั้งความคาดหมายและจำนวนที่นั่งในห้อง จนต้องขอเก้าอี้มาเสริม เป็นความยินดีอย่างมากที่ห้องเสวนาภาควิชาการได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไปมากเท่านี้
สาเหตุหนึ่งที่วงเสวนานี้ได้รับความสนใจมากน่าจะเป็นเพราะความสามารถของผู้นำเสนองานที่ย่อยบทความวิชาการซึ่งเข้มข้นด้วยเนื้อหาสาระให้ง่ายต่อการเข้าใจกับบุคคลทั่วไปด้วยนะครับ นี่เป็นความเห็นจากผู้เข้าร่วมหลายท่านที่ส่งผ่านมาถึงผม
ต่อตระกูล:น่ายินดีอย่างยิ่งนี่แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัว ไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน และพร้อมที่จะลุยต่อต้านการคอร์รัปชันไปด้วยกันของคนไทยหลายๆ คน
ในงานนี้มีนักวิชาการรุ่นใหม่เสนอแนวคิดใหม่ๆ ถึง 8 คนจาก 8 สาขาต่างๆกัน น่าสนใจทั้งนั้น จะขอทยอยนำมาเล่าให้ฟังทีละเรื่อง วันนี้จะขอหยิบเอามาเล่า 1 เรื่องก่อน คือเรื่องของ คอร์รัปชันในระบบการศึกษาของไทย ที่นำเสนอโดย อาจารย์ชัยวัฒน์ แก้วพันงามอาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยได้รับเกียรติจาก ดร.รับขวัญธรรมาภรณ์พิลาศ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ชำนาญการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นผู้วิจารณ์งานให้
ต่อภัสสร์: ผมสงสัยว่าทำไมพ่อ ถึงหยิบเอาเรื่องคอร์รัปชันในระบบการศึกษาของไทย มาก่อนเรื่องอื่นๆ ครับ งบประมาณกระทรวงศึกษา ก็เพียงปีละประมาณ 500,000 ล้านบาทต่อปี เอาไปจ่ายเงินเดือนครู ไปแล้วถึงปีละ 350,000 ล้านบาท เหลืองบลงทุนพัฒนาการศึกษาทั่วประเทศ เพียงปีละ 150,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับงบประมาณกระทรวงมหาดไทยที่มากถึง 370,000 ล้านบาท หรืองบประมาณ อบต.ทั่วประเทศที่มีรวมกันถึงปีละเกือบ 600,000 ล้านบาทต่อปี จะไม่น่าสนใจกว่าหรือครับ?
ต่อตระกูล: ก็เพราะในวันนั้นอาจารย์แบ๊งค์ งามอรุณโชตินักเศรษฐศาสตร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ศูนย์การศึกษาราชบุรี) เสนอว่าถ้าจะต่อสู้กับคอร์รัปชันให้สัมฤทธิผลอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด เราจะต้องมีวิธีการเลือกว่าจะทำเรื่องใดก่อนหลัง และวิธีหนึ่งที่ อาจารย์แบ๊งค์ เสนอก็คือการเลือกทำจุดที่มีการคอร์รัปชันแล้วเกิดผลกระทบต่อประเทศในวงกว้าง และกระทบต่อเนื่องไปยังเรื่องอื่นๆ มากที่สุดก่อน
ในความเห็นของพ่อ การศึกษานี่แหละสำคัญที่สุดเพราะเด็กคืออนาคตของชาติ เด็กดีมีความคิด ชาติจึงจะเจริญ ประกอบกับการนำเสนอความเห็นของ อาจารย์ชัยวัฒน์ ซึ่งเป็นนักการศึกษาและเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ในเรื่องคอร์รัปชันในระบบการศึกษาของไทยนั้น สนับสนุนความคิดของพ่อที่ต้องให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นอันดับแรกๆ
ต่อภัสสร์:ถ้าวิเคราะห์จากสถิติ จำนวนนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในสถานศึกษาของรัฐบาลและเอกชนทั้งประเทศมีมากถึง 13.6 ล้านคน เห็นด้วยครับว่าการเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษาไทยจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างจริง เช่น หากมีการทุจริตในการทำตำราเรียนที่ไม่ได้คุณภาพ 1 เล่ม มีผลทำให้เด็กไม่ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ หรือแย่ไปกว่านั้นคือได้ความรู้อย่างผิดๆ ไปเป็นจำนวนมากทุกๆปี
อาจารย์ชัยวัฒน์ ยังยกกราฟมาเปรียบเทียบ ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยเทียบกับประเทศต่างๆ ให้เห็นชัดเจนเลยว่าประเทศไทยใช้เวลาเรียนมากเป็นที่ 2 ของโลกรองจากประเทศกรีซแต่ผลคะแนนสอบ กลับออกมาเกือบต่ำสุดของโลก
ต่อตระกูล:คำถามก็คือว่า เกิดอะไรขึ้นเงินหายไปไหน หายไปเพราะมีการทุจริต หรือแค่มีการบริหารจัดการที่ผิดพลาด มีผลทำให้ราชการเสียหาย แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุอะไร แม้จะไม่ทุจริตแต่ถ้าทำงานแล้วมีผลทำให้ราชการเสียหาย ป.ป.ช. ก็เคยทำเป็นคดี ให้ข้าราชการผู้รับผิดชอบต้องรับโทษร้ายแรงไปแล้วหลายร้อยคน ส่วน ป.ป.ท. ก็เคยรายงานว่ามีครูถึงสามพันกว่าคน เกี่ยวข้องกับการทุจริตสนามฟุตซอล
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่พบว่า นักเรียนไทยโดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลาเรียนสูงมากถึง 1,000-1,200 ชั่วโมง/ปี เทียบกับทั่วโลกใช้เวลาเรียนเฉลี่ย น้อยกว่า 800 ชั่วโมง/ปี เหตุหนึ่งที่มีชั่วโมงเรียนเยอะแต่ผลคะแนนออกมาต่ำ ก็อาจเป็นเพราะ ในเวลาชั่วโมงเรียนที่มีมากนี้ไม่มีครูอยู่ในห้องสอน ครูไทยขาดสอนเฉลี่ยถึง 84 วัน/ปีหรือหายไปกว่า 40% ของเวลาเรียนทั้งหมด! แบบนี้จะเรียกว่าคอร์รัปชันเวลา ก็ได้
ต่อภัสสร์:ในประเด็นนี้ อาจารย์ชัยวัฒน์ เน้นว่าเนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษามากที่สุด และคนที่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุดคือครู ดังนั้นการที่ครูจำนวนมากมีวัฒนธรรมคอร์รัปชันเสียเอง ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบการขาดสอน การเอาเวลาสอนในโรงเรียนไปสอนพิเศษ หรือถ้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็เอาเวลาที่ควรพบนักศึกษาไปเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชน การบังคับให้ใช้ตำราจากสำนักพิมพ์ที่รู้จักกัน หรือตำราที่ครูเขียนเองซึ่งมีคุณภาพต่ำกว่าตำราอื่นๆ พฤติกรรมเหล่านี้ย่อมเสริมสร้างวัฒนธรรมการคอร์รัปชันให้กับนักเรียน นักศึกษา ที่จะเติบโตไปเป็นอยู่ในภาคส่วนต่างๆของประเทศ ทำให้ความพยายามในการต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ไม่เป็นผลเสียที
ขอสรุปว่า หากเราต้องจัดลำดับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน วงการการศึกษาควรจะจัดอยู่ในอันดับต้นๆ และหากต้องการปฏิรูปการศึกษาไทย สิ่งแรกที่ต้องทำคือขจัดคอร์รัปชันในวงการการศึกษาให้ได้ก่อน เพื่อให้ได้พลเมืองที่มีคุณภาพ มาเลือกนักการเมืองที่มีคุณภาพ ไปพัฒนาประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป